บทความ
พม่า : ศัตรูที่ไม่มีตัวตน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
วันที่ 09 กันยายน 2563

ราษฎรกรุงศรีอยุธยาต่อสู้กับทหารพม่าที่เข้ามาปล้นฆ่า (ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)

ทางการพม่าไม่ค่อยชอบละครเรื่องนายขนมต้มนัก เพราะ “ข้าศึก” ในละครเป็นพม่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ พม่าอ้างว่า ยุคโลกานุวัตรแล้วควรพูดถึงความร่วมมือกันดีกว่ามานั่งฟื้นฝอยหาความบาดหมางกันเปล่าๆปลี้ๆ

พม่าคงไม่รู้หรอกว่าละครทีวีเป็นเพียงผิวบางๆ ที่ห่อหุ้มมโนภาพในฐานะ “ศัตรู” ของชาติเท่านั้น เพราะถ้าไม่พลิกแบบเรียนประวัติศาสตร์ของนักเรียน หรือขุดสํานึกทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยถูกปลูกฝังเอาไว้ออกมาดู พม่าจะผงะว่ากูระยําได้ถึงแค่นี้เชียวหรือ

ก่อนหน้าที่เราจะสร้าง “ชาติ” ขึ้น คนไทยเคยเกลียดพม่าเข้ากระดูกดําหรือไม่?

ก็เคยนะครับ โดยเฉพาะคนในต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินเมื่อคราวเสียกรุง ผู้ใหญ่ในครั้งนั้นคงสั่งลูกหลานห้ามไม่ให้คบพม่าด้วยความแค้น แต่พม่าไม่ใช่ “ศัตรู” ถาวร เพราะเพียงมาถึงรัชกาลที่ 3 เท่านั้น พม่าก็เสียเมืองบางส่วนแก่อังกฤษและหมดพิษสงไปเยอะ

คงจํากันได้นะครับว่าพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าฯ ก่อนสวรรคตระบุชัดเจนว่าพม่าไม่ใช่ “ศัตรู” ที่ต้องเฝ้าระวังอีกแล้ว แต่ฝรั่งต่างหากที่เป็น “ศัตรู” อันน่ากลัวของไทย

แสดงว่า “ศัตรู” นั้นแปรเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับสภาพที่เป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศ

เช่น ในตอนต้นอยุธยา หากถามเจ้านายสายเมืองละโว้ก็คงจะชี้หน้าขอมแปรพักตร์หรือเขมรว่าเป็น “ศัตรู” ตัวฉกาจ ต้องรบกันให้รู้ดํารู้แดงไป แต่ถ้าไปถามเจ้านายสายเมืองสุพรรณก็จะชี้ไปทางพิษณุโลก สุโขทัย-ศรีสัชนาลัยโน่นว่านั่นแหละต้องระวังให้ดี ควรปราบเอามาเป็นเมืองออกเสียจะได้สบายใจ

ถามคนสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถก็คงชี้ว่าพวกญวนหรือ ชาวล้านนาสิคือ “ศัตรู” ร้าย ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ เราเลิกที่จะเป็นไมตรีกับกรุงอังวะที่อ่อนแอ แทนที่จะเป็นไมตรีกับมอญกบฏซึ่งเพิ่งตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ เพราะราชวงศ์มอญใหม่อาจดึงเอาข้าไพร่เชื้อสายมอญในเมืองไทยกลับไปเมืองมอญหมดก็ได้

ฉะนั้น ถ้าพิจารณาเฉพาะจากสภาพความเป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พม่าเพิ่งเป็น “ศัตรู” ตัวร้ายของไทยก็เฉพาะช่วงสั้นๆ คือเมื่อก่อนเสียกรุงจนถึงช่วงหนึ่งของต้นรัตนโกสินทร์เท่านั้น

แต่พม่ากลายเป็น “ศัตรู” ถาวรของไทยก็ตอนที่ไทยรวบรวมอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางอันเป็นฐานให้แก่การสร้างชาติในเวลาต่อมานี้เอง

ในการสร้างจินตนากรรมของความเป็นชาตินั้น นอกจากต้องสร้างรูปธรรมให้จับต้องกันได้หลายอย่าง เช่น ธงชาติ, เพลงชาติ แผนที่, เครื่องแต่งกายประจําชาติ ฯลฯ แล้ว ก็จําเป็นต้องสร้าง “ศัตรู” ของชาติขึ้นอีกด้วย เวทีที่ดีที่สุดสําหรับสร้าง “ศัตรู” ของชาติ ก็คือประวัติศาสตร์แห่งชาติสิครับ

พม่าถูกเลือกให้ได้ตําแหน่ง “ศัตรู” ของชาติในช่วงนี้แหละครับ รายการที่ผมใช้คําว่าถูกเลือก ก็เพราะพม่าลงล็อตพอดิบพอดีที่จะเป็น “ศัตรู” ของชาติ ไม่ใช่เพราะว่าในตอนนั้นพม่าทําอะไรที่ขัดขวางผลประโยชน์ของชาติหรอกครับ ก็ในตอนนั้นไม่มีพม่าด้วยซ้ำ มีแต่จังหวัดพม่าในจักรภพอินเดียของอังกฤษเท่านั้น

เหตุดังนั้น “ศัตรู” ของชาติจึงไม่ได้หล่นลงมาจากฟ้าหรือผุดขึ้นมาจากอเวจี แต่เป็นการแต่งตั้งเหมือนวุฒิสมาชิกนี่แหละครับ

ตามสภาพความเป็นจริงในตอนนั้นคือราวสมัยรัชกาล 5 ลงมา ศัตรูหรือผู้ที่บั่นรอนผลประโยชน์ของสยามที่สุดคือฝรั่งเศส และอังกฤษ คนไทยที่เจ็บแค้นกับการกระทําของฝรั่งเศสใน ร.ศ. 112 ก็ยังมีอีกเยอะ ถ้าจะสร้างฝรั่งเศสให้เป็น “ศัตรู” ของชาติ ก็คงมีคนพร้อมจะเผาหุ่นฝรั่งเศสในเมืองไทยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

แต่เขาก็ไม่เลือกเอาฝรั่งเศสเป็น “ศัตรู” ของชาติ กลับไปเลือกพม่า

รัฐบาลไทยในเวลานั้นก็รู้นะครับว่าฝรั่งเศสเป็นศัตรูที่ต้องเฝ้าจับตามอง ในช่วง 4-5 ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 กองทัพบกจะต้องนําเอากําลังทหารและอาวุธของฝรั่งเศสในอินโดจีนมาประเมินว่า กองทัพไทยพอจะฟัดจะเหวี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนทุกปี การของบประมาณและจัดสร้างกองกําลังของกองทัพก็มีเป้าหมายที่จะต่อกรกับกองกําลังของฝรั่งเศสในอินโดจีน ฉะนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว ฝรั่งเศสเป็นเป้าเบ้อเริ่มของความรู้สึกเป็นอริของรัฐบาลไทยทีเดียว

แต่เขาก็เลือกพม่าเป็น “ศัตรู” ของชาติในประวัติศาสตร์แทนฝรั่งเศส อย่างเก่งที่ความไม่ชอบฝรั่งเศสจะปรากฏออกมากในประวัติศาสตร์ก็ซ่อนไว้ระหว่างบรรทัด เช่น อ่านประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์แล้วก็งงๆว่า ตกลงจัสแม็กฝรั่งเศสก็มีบุญคุณที่มาช่วยไทยรบวิลันดา หรือฝรั่งเศสเจ้าเล่ห์เพทุบายจะฮุบเอาเมืองไทยไปเสียเลยก็ไม่แน่ชัด

เหตุที่เลือกพม่าก็เพราะพม่ากําลังพอดีๆ ไม่เล็กขนาดกัมพูชา หรือลาวหรือมลายู ซึ่งในตอนนั้นไทยเห็นว่าเป็นแค่ประเทศราชของไทยที่ถูกฝรั่งแย่งเอาไป จะแต่งตั้งใครเป็น “ศัตรู” ของชาติทั้งที จะให้กระจอกนักก็ไม่ได้

จีนก็เหมาะจะเป็น “ศัตรู” ของชาติอยู่ เพราะในตอนนั้นจีน ก็ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงที่จะมาเป็นศัตรูจริงๆ จึงได้สมญาว่ายักษ์หลับแห่งเอเชีย เสียแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในทางการเมืองแทบจะไม่มีเอาเสียเลย ได้แต่ส่งบรรณาการกันตามจังหวะเท่านั้น ถ้าจีนเป็น “ศัตรู” ของชาติก็หาวีรบุรุษของชาติได้ยาก อาจต้องยกตําแหน่งวีรบุรุษให้แก่ทูตไทยที่ไปปักกิ่งสมัยพระเจ้าตากสิน เพราะทูตได้ต่อสู้กับคณิกาหมวยในเมืองหลวงของจีน จนกระทั่งกลับมาป่วยด้วยโรคบุรุษ

ดูไม่สวยเท่าไหร่

ส่วนญี่ปุ่นซึ่งกําลังเริ่มเรืองอํานาจขึ้นในโลกนั้น แม้มีความสัมพันธ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์กับคนญี่ปุ่นบ้าง แต่ถ้าเลือกเอาญี่ปุ่นเป็น “ศัตรู” ของชาติขึ้นมา ก็เท่ากับไปจํากัดบทบาทของตัวเองและของญี่ปุ่นในความสัมพันธ์ซึ่งอาจมีความสําคัญแก่บ้านเมืองได้ เช่น ดึงเอาญี่ปุ่นเข้ามาควบอํานาจฝรั่ง เป็นต้น

ดังนั้น แม้ว่าจีนและญี่ปุ่นมีศักดิ์ศรีพอจะเป็น “ศัตรู” ของชาติในประวัติศาสตร์ที่สร้างกันขึ้นในช่วงนี้ได้ดี แต่ก็ไม่เหมาะด้วยสภาพความเป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศดังที่กล่าวแล้วนี้

เช่นเดียวกับมหาอํานาจตะวันตกซึ่งแม้คนไทยจะรู้สึกเจ็บแค้นอย่างไร ก็รู้เต็มอกว่ายังไม่มีทางจะสู้รบปรบมือได้ ไม่ว่าในทางอาวุธ, ในทางการค้า, หรือในทางวิทยาการซึ่งไทยยอมแพ้ศิโรราบไปตั้งนานแล้ว การแต่งตั้งให้ฝรั่งเศสหรืออังกฤษเป็น “ศัตรู” ของชาติ ทําให้เกิดความอึดอัดในการดําเนินความสัมพันธ์กันเปล่าๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นําของไทยสมัยนั้นก็ยังเห็นว่าฝรั่งเจ้าอาณานิคมเป็นผู้ประกันสถานะเดิมของภูมิภาค มีฝรั่งเป็นนาย เขมร, ลาว, ญวน, พม่า และมลายูจึงดีกว่าไม่มี

ดูโดยรอบแล้วไม่เห็นใครจะเหมาะเป็น “ศัตรู” ของชาติยิ่งไปกว่าพม่า เพราะในช่วงนั้นพม่าไม่มีภัยอันตรายอะไรเลย อันที่จริงพม่าไม่มีตัวตนในการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะไม่มีรัฐพม่าที่เป็นอิสระ “ศัตรู” ของชาติในประวัติศาสตร์ไทยที่สร้างขึ้นรองรับความเป็นชาติของเราจึงไม่มีตัวตน จะสร้างให้น่าเกลียดน่ากลัวอย่างไร หรือจะสร้างให้เราได้ไล่ต้อนอย่างไรก็ได้ เพราะ “ศัตรู” นี้ไม่มีตัวตน

ตรงข้ามกับที่นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าพม่าเป็นหนามยอกอกไทย เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครนอกจากพม่า

ผมกลับคิดว่าหนามพม่าเป็นหนามของจินตนากรรมที่นักประวัติศาสตร์ไทยในช่วงหนึ่งได้สร้างเอาไว้ เพื่อให้ชาติไทยมี “ศัตรู” ประจําชาติเป็น “ศัตรู” ที่มีศักดิ์ศรีพอฟัดพอเหวี่ยงกับไทย แต่ไม่มีตัวตนให้ต้องมากังวลว่าจะสัมพันธ์กับ “ศัตรู” ในอดีตรายนี้อย่างไร

ประวัติศาสตร์สํานวนนี้ยังเป็นฐานของประวัติศาสตร์ไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ถือได้ว่าเป็นสํานวนที่ให้สํานึกทางประวัติศาสตร์แก่คนไทยมากที่สุด เพราะผ่านการศึกษามวลชนของสังคมสมัยใหม่

ด้วยเหตุดังนั้น แม้ว่าสภาพที่เป็นจริงของการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว และแม้ว่าพม่ากลับมีตัวตนขึ้นมาใหม่แล้วก็ตาม แต่ “ศัตรู” ของชาติในสํานึกทางประวัติศาสตร์ของคนไทยกลับเป็น “พม่า” เมื่อร้อยปีที่แล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่งที่คนไทยปัจจุบันถูกจองจําด้วยจินตนากรรมของศตวรรษที่กําลังจะปิดฉากลง

ชาติอาจมี “ศัตรู” ได้อีกมาก และแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อดีตที่จองจําเราเอาไว้อาจทําให้เรามองไม่เห็นและดิ้นรนที่จะต่อสู้กับ “ศัตรู” ของยุคสมัยของเราเอง เช่น แนวทางการพัฒนาที่ฝรั่งครอบงําการค้าเสรีที่กีดกันสินค้าของคนอื่น แต่ทะลุทะลวงเปิดตลาดให้สินค้าของตัวฝ่ายเดียว ฯลฯ ได้แต่ต่อสู้กับพม่าซึ่งไม่มีตัวตนมากไปกว่านุ่งโสร่งขี่ช้างให้หวาดเสียว

แม้ละครกะหลาป๋าทั้งหลายในทีวีจะไม่ออกชื่อพม่าอีกเลย เพื่อสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศพม่า แต่พม่าเป็น “ศัตรู” ของชาติในสํานึกทางประวัติศาสตร์ของคนไทย ไม่ได้เป็นศัตรูเพียงในละครกะหลาป๋าเท่านั้น

การเปลี่ยนสํานึกทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใหญ่และลึกกว่าคําสั่งห้ามออกชื่อพม่าในทีวีมากนัก


บทความเผยแพร่ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 855 ประจำวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2540

รวมเล่มใน “ว่าด้วย ‘การเมือง’ ของประวัติศาสตร์และความทรงจำ นิธิ เอียวศรีวงศ์” พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2562

สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้ที่ : ศูนย์วิทยบริการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี

ขอขอบคุณ

ที่มา : https://www.silpa-mag.com/

Upload Form